บทคัดย่องานวิจัย

การคัดแยกและศึกษาคุณสมบัติการเป็นโพรไบโอติกของแบคทีเรียกรดแลคติกที่คัดแยกจากกล้วยน้ำว้าดิบในเขตจังหวัดพิษณุโลก

นนทพร รัตนจักร์, ชัชวินทร์ นวลศรี, และคณะ.
วารสารวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, 22(2), 50-57. (2563). 

บทคัดย่อ

วัตถุประสงค์ของการศึกษาครั้งนี้เพื่อคัดแยกแบคทีเรียกรดแลคติก (Lactic acid bacteria; LAB) จากกล้วยน้ำว้าดิบระยะที่ 1 ในจังหวัดพิษณุโลกและศึกษาคุณสมบัติการเป็นโพรไบโอติกเบื้องต้นของLABที่คัดแยกได้ รวมถึงระบุสายพันธุ์จุลินทรีย์ด้วยเทคนิคทางอณูชีววิทยาโดยศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาเบื้องต้น ทดสอบการย่อยสลายเม็ดเลือดแดง ความสามารถในการทนเกลือน้ำดี 0.5% ความสามารถในการทนกรด-ด่างที่ 2-9 ความสามารถในการยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรคทางเดินอาหาร และความไวต่อยาปฏิชีวนะ จากการศึกษาพบว่า สามารถคัดแยกLABจากกล้วยน้ำว้าดิบระยะที่ 1 ได้ทั้งหมด 35 ไอโซเลต (แกรมบวก รูปร่างกลม ไม่สร้างเอนไซม์คะตะเลส (catalase)แต่มีเพียง 7 ไอโซเลต ที่ไม่ย่อยเม็ดเลือดแดง คือ NR19, NR22, NR23, NR24,NR27, NR28 และNR38ซึ่งทั้ง 7 ไอโซเลต สามารถทนเกลือน้ำดี 0.5%ได้โดยมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่า 90%และทนต่อสภาวะความเป็นกรด-ด่างที่ 2-9 ได้ ซึ่งมีอัตราการรอดชีวิต ≥ 40%และมีเพียง 4 ไอโซเลต NR19, NR23, NR24 และ NR27 ที่สามารถยับยั้งจุลินทรีย์ก่อโรคสายพันธุ์ Escherichia coli, Bacillus cereus, Staphylococcus aureus และSalmonella Typhimuriumได้ทั้งหมดนอกจากนี้ LAB ทั้ง 7 ไอโซเลต มีความไวต่อยาปฏิชีวนะ Tetracyclines Chloramphenicolและ Ampicillin และหลังจากระบุสายพันธุ์จุลินทรีย์ด้วยการวิเคราะห์ลำดับ นิวคลีโอไทด์ของ 16S rDNA พบว่ามีความคล้ายคลึงกับEnterococcus  gallinarum (NR19) Lactococcus  lactisssp.(NR22,  NR23,  NR24 และNR38) และWeisssella paramesenteroides (NR27 และ NR28) ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า LAB ทั้ง 7ไอโซเลต มีแนวโน้มที่จะเป็นโพรไบโอติก และคาดว่าจะสามารถนำไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพต่อไปได้