บทคัดย่องานวิจัย

การจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยวของกล้วยหอมทอง

ปรีติยาทร แก้วมณี และมยุรี กระจายกลาง.
ว.วิทยาศาสตร์เกษตร, 49(3). (2562).

บทคัดย่อ

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและรวบรวมข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการสูญเสียของ กล้วยหอมทอง รวมไปถึงสำรวจเส้นทางการตลาดในการจัดจำหน่ายกล้วยหอมทอง เพื่อนำไปสู่แนวทางการลดการสูญเสียและ เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวของกล้วยหอมทองกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มผู้ปลูกกล้วยหอมทองในเขตอำเภอ เมืองพิษณุโลก จำนวน 48 คน สุ่มตัวอย่างโดยไม่คำนึงถึงความน่าจะเป็น โดยใช้แบบเฉพาะเจาะจง รวบรวมข้อมูลโดยใช้ แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ และการสังเกตการณ์ ใช้สถิติเชิงพรรณนาในการวิเคราะห์ข้อมูลคือร้อยละและค่าเฉลี่ย จากการศึกษาพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย อายุห้าสิบปีขึ้นไป เป็นผู้มีรายได้อยู่ในช่วง 5,001 – 15,000 บาท สำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาตอนปลาย การเก็บเกี่ยวผลิตผลส่วนใหญ่เก็บเกี่ยวในช่วงเช้า ระยะเก็บเกี่ยว คือ Light ¾ หรือแก่ 70% (ผลสีเขียวและเหลี่ยมเริ่มลด) เก็บเกี่ยวสัปดาห์ละหนึ่งครั้งตลอดทั้งปี ข้อมูลความคิดเห็นจากกลุ่ม ผู้ปลูกเกี่ยวกับการสูญเสีย พบว่า ในขั้นตอนการเก็บเกี่ยว สาเหตุหลักคือ สุกคาต้นหรือผลไม่ได้ขนาด คิดเป็น 30.8 เปอร์เซ็นต์ ขั้นตอนการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวและขั้นตอนการขนส่งจนถึงวางจำหน่ายสาเหตุหลักคือ ช้ำ คิดเป็น 75.0 เปอร์เซ็นต์ และ 66.7 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักที่พึงระมัดระวังจากความคิดเห็นของผู้ปลูก พบว่า 40.0 เปอร์เซ็นต์ มาจากการช้ำและเกิดในขั้นตอนการขนส่ง ดังนั้น การใช้บรรจุภัณฑ์ที่เหมาะสมในระหว่างการขนส่ง น่าจะเป็นแนวทางสำคัญ ในการลดการสูญเสียจากการศึกษานี้