บทคัดย่องานวิจัย
การพยากรณ์การตัดสินใจรักษาพื้นที่ปลูกทุเรียนของเกษตรกรในจังหวัดนนทบุรีโดยใช้สมการถดถอยพหุคูณ
สมชาย สมโภชพิสุทธิ์.
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ/พระนครศรีอยุธยา.(2563)
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจรักษาพื้นที่ปลูกทุเรียนของเกษตรกรในจังหวัดนนทบุรีโดยใช้สมการถดถอยพหุคูณ ข้อมูลเก็บรวบรวมโดยการสุ่มจากประชากรที่เป็นเกษตรกรสวนทุเรียนในจังหวัดนนทบุรี โดยเก็บข้อมูลมากกว่าขนาดกลุ่มตัวอย่างตามสูตรของ ทาโร ยามาเน (Taro Yamane) ที่ความคลาดเคลื่อนที่ยอมรับได้ 0.1 ได้ข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง 113 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามมี 3 ส่วน คือข้อมูลทั่วไปและสถานภาพพื้นฐานการทำเกษตรสวนทุเรียน ความคิดเห็นต่อปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ต่อการตัดสินใจรักษาพื้นที่ปลูกทุเรียนของเกษตรกรในจังหวัดนนทบุรี และความคิดเห็นต่อการตัดสินใจรักษาพื้นที่ปลูกทุเรียนของเกษตรกรในจังหวัดนนทบุรี วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ ผลการศึกษาพบว่า เกษตรกรสวนทุเรียนกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุโดยมีอายุเฉลี่ย 62.21 ปี มีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนเฉลี่ย 3.54 ไร่ เกษตรกรส่วนใหญ่มีการศึกษาขั้นสูงสุดอยู่ในระดับประถมศึกษา และมีประสบการณ์การทำสวนทุเรียนมากกว่า 30 ปี นอกจากนี้ยังพบว่าปัจจัยที่มีต่อการตัดสินใจรักษาพื้นที่ปลูกทุเรียน ประกอบด้วยปัจจัยด้านสภาพทั่วไปในการเพาะปลูกทุเรียนอยู่ในระดับมากซึ่งมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.88 ส่วนปัจจัยด้านสภาพเศรษฐกิจ ด้านสังคมและสภาพแวดล้อม ด้านการส่งเสริมจากหน่วยงานภาครัฐ ส่งผลอยู่ในระดับปานกลางโดยมีค่าเฉลี่ยเป็น 3.18 3.01 และ 3.12 ตามลำดับ ส่วนปัจจัยด้านการค้าขายผลผลิตและเทคโนโลยีอยู่ในระดับน้อย ซึ่งมีค่าเฉลี่ยเป็น 2.42 ผลการวิเคราะห์สมการถดถอยพหุคูณด้วยวิธีแบบขั้นตอนพบว่ามีปัจจัยรายข้อย่อย 6 ปัจจัยที่ส่งผลด้านบวกต่อการตัดสินใจรักษาพื้นที่ปลูกทุเรียนของเกษตรกรจังหวัดนนทบุรีอันได้แก่ปัจจัยทางด้านความเหมาะสมของสภาพอากาศ แหล่งน้ำหรือแหล่งชลประทาน ความหลากหลายของพันธุ์ทุเรียน ราคาขายทุเรียน การใช้เทคโนโลยีในการรับข้อมูลในการขายผลผลิต การลดดอกเบี้ยเงินกู้จากหน่วยรัฐ และผลการวิเคราะห์สมการถดถอยแบบพหุคูณด้วยวิธี Enter โดยนำตัวแปรมาวิเคราะห์ความเหมาะสมและสกัดปัจจัยก่อนพบว่าปัจจัยที่ส่งผลด้านบวกต่อการตัดสินใจรักษาพื้นที่ปลูกทุเรียนของเกษตรกรจังหวัดนนทบุรีคือปัจจัยด้านด้านความเหมาะสมของพื้นที่ ดิน น้ำ แหล่งชลประทานและสภาพอากาศโดยมีค่า B=0.2683