บทคัดย่องานวิจัย
การพัฒนาศักยภาพการผลิตมะพร้าวอ่อนเพื่อการส่งออกครบวงจร
กฤษณา กฤษณพุกต์.
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์:นครปฐม. (2559).
บทคัดย่อ
ปัจจุบันมะพร้าวกลายเป็นไม้ผลสำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะมะพร้าวอ่อนมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 ปีละเกือบ 20% โดยในปี 2558 มีมูลค่าการส่งออกเกือบสองพันล้านบาท ทำให้มีผู้สนใจที่จะปลูกมะพร้าวอ่อนโดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอมเพิ่มขึ้น แต่ยังพบปัญหาหลายด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องของผลผลิตไม่เพียงพอในบางช่วง ซึ่งขึ้นกับหลายปัจจัย ได้แก่ ปัญหาเรื่องการออกดอกติดผล การจัดการสวนโดยเฉพาะเรื่องของธาตุอาหารที่เหมาะสม ปัญหาผลผิดปกติเช่นผลแตก ความปรวนแปรของสายพันธุ์ซึ่งมีผลต่อบางลักษณะ เช่น ความหอม ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญของมะพร้าวไทย รวมทั้งปัญหาด้านการขาดแคลนแรงงานฝีมือในการปอกมะพร้าว และการจัดการกับส่วนของมะพร้าวที่เหลือทิ้งหลังการปอก ดังนั้นชุดโครงการนี้จึงต้องการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ และเทคโนโลยีด้านวิทยาการของมะพร้าวอ่อน โดยเฉพาะมะพร้าวน้ำหอม เพื่อสนองความต้องการและแก้ไขปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวอ่อนและผู้ที่กำลังตัดสินใจปลูกเพื่อเป็นการค้าในด้านต่าง ๆ ที่กล่าวมา โดยจากการวิจัยในระยะ 3 ปีแรก ประกอบด้วยโครงการย่อยทั้งหมด 7 โครงการ พบว่าการสร้างตาดอกของมะพร้าวน้ำหอมใช้เวลาถึงสองปี ในระหว่างปีการออกดอกจะมากน้อยแตกต่างไปในแต่ละเดือน โดยเฉพาะตั้งแต่เดือนกันยายนถึงสิ้นปี จำนวนตาดอกจะลดลงอย่างมาก ซึ่งทำให้ผลผลิตซึ่งจะไปเก็บเกี่ยวในช่วงหน้าร้อน ราวเดือนมีนาคมเป็นต้นไปมีน้อยกว่าช่วงอื่น อย่างไรก็ตามหากมีการจัดการสวนที่ดี เช่น มีการให้น้ำสม่ำเสมอในช่วงแล้งจะทำให้มีผลผลิตมากกว่าสวนที่ไม่มีการดูแล (โครงการวิจัยที่ 1) รวมทั้งลดปัญหาเรื่องผลแตกได้ โดยอาการผลแตกจะพบมากระหว่างเดือนพฤสจิกายน ถึงเดือนมีนาคม ซึ่งในช่วงนี้ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศในเวลากลางวันและกลางคืนจะแตกต่างกันมากกว่าช่วงเวลา อื่น การทดลองให้แคลเซียมจากภายนอกยังไม่เห็นผลชัดเจนในการลดการแตกของผลมะพร้าวน้ำหอม (โครงการวิจัย ที่ 3) จากงานวิจัยยังพบว่า ต้นมะพร้าวมีการสูญเสียมหธาตุไปกับผลผลิตมากถึง 1605 กรัม โดยเป็นโปแตสเซียมถึง 50% แสดงว่าธาตุนี้มีความสำคัญกับมะพร้าวเป็นอย่างมาก (โครงการวิจัยที่ 2) จากการศึกษาสารสร้างความหอม คือ 2-acetyl-1 pyrroline (2-AP) ในมะพร้าวน้ำหอม พบว่า ผลมะพร้าวเริ่มมีการสร้างสารนี้ในน้ำและเนื้อมะพร้าวเมื่อผลมีอายุ 6 เดือน และเพิ่มขึ้นตามอายุของผล จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ระยะเก็บเกี่ยวเพื่อบริโภคของมะพร้าวน้ำหอมอยู่ที่ 6-7 เดือน เนื่องจากเริ่มมีการสร้างสารหอม และที่สำคัญ คือ น้ำและเนื้อของมะพร้าวมีคุณภาพดีที่สุดในช่วงนี้ (โครงการวิจัยที่ 4) ส่วนการศึกษาความหลากหลายในมะพร้าว 26 สายพันธุ์ รวมทั้งมะพร้าวน้ำหอม สามารถจัดกลุ่มได้ 4 กลุ่ม โดยมะพร้าวน้ำหอมถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ซึ่งเป็นกลุ่มต้นเตี้ย กลุ่มที่ 1 และส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่นิยมบริโภคผลอ่อนและค้าขายเชิงพาณิชย์ และการใช้ดีเอ็นเอเครื่องหมายชนิด SSR มีประสิทธิภาพในการจำแนกความแตกต่างระหว่างจีโนไทป์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำฐานข้อมูลทางพันธุกรรมสำหรับงานปรับปรุงพันธุ์มะพร้าวต่อไป (โครงการวิจัยที่ 5) การพัฒนาเครื่องปอกเปลือกมะพร้าวน้ำหอมสามารถบรรวัตถุประสงค์ที่วางไว้ สามารถปอกมะพร้าวได้สวยงามแต่ยังช้ากว่าที่ต้องการ โดยขณะนี้ปอกได้ประมาณ 2 นาทีต่อผล (โครงการวิจัยที่ 6) ส่วนการนำขุยของเปลือกมะพร้าวอ่อนที่เหลือทิ้งหลังการปอกไปหมักและทำเป็นวัสดุเพาะกล้า พบว่า ต้นกล้าที่ได้มีคุณภาพดีใกล้เคียงกับการใช้พีทมอส จึงมีแนวโน้มสามารถพัฒนาต่อไปเป็นเชิงการค้าได้ (โครงการวิจัยที่ 7)