บทคัดย่องานวิจัย

การยอมรับเทคโนโลยีการผลิตกล้วยหอมตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) ของเกษตรกรในเขตภาคกลางตอนบน

ณัฐวุฒิ จั่นทองและคณะ.
วารสารวิจัยและส่งเสริมวิชาการเกษตร,40(1), 150-160.(2566).

บทคัดย่อ

การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1) ลักษณะพื้นฐานส่วนบุคคล เศรษฐกิจและสังคมของเกษตรกร 2) การยอมรับเทคโนโลยีการผลิตกล้วยหอมตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) 3) ปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับเทคโนโลยีการผลิตกล้วยหอมตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) และ 4) ปัญหาและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการผลิตกล้วยหอม โดยกลุ่มตัวอย่างในการศึกษา คือเกษตรกรผู้ผลิตกล้วยหอม (GAP) ในเขตภาคกลางตอนบน จำนวน 108 คนเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์และวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ เชิงพรรณนาเพื่อหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และใช้สถิติเชิงอนุมาน คือ การวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุ ผลการศึกษาพบว่าเกษตรกร มีการยอมรับการผลิตกล้วยหอมตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) อยู่ในระดับมาก โดยปัจจัยที่มีผลต่อการยอมรับการผลิตกล้วยหอมตามการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม (GAP) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในทางบวก ได้แก่ จำนวนปีที่ได้รับการศึกษา รายได้จากการปลูกกล้วยหอม และประสบการณ์ในการปลูกกล้วยหอม ด้านปัญหาของการผลิตกล้วยหอมพบว่า เกษตรกรมีปัญหาเรื่องแหล่งเผยแพร่ข่าวสารมากที่สุด