บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาการเกิดไซโกติคเอ็มบริโอ (Zygotic embryogenesis) ของมะพร้าวกะทิจากชิ้นส่วนเอ็มบริโอ (Immature embryos)

ปริญดา หรูนหีม, ประภาพร ฉันทานุมัติ, และยุพิน กสินเกษมพงษ์.
รายงานผลการวิจัยศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพร. (2561). 

บทคัดย่อ

จากศึกษาการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อของมะพร้าวกะทิ โดยใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตที่ต่างกันเพื่อชักนำการเกิดไซโกติคเอ็มบริโอ โดยดำเนินการทดลองที่ศูนย์วิจัยพืชสวนชุมพรและสวนผลิตพันธุ์มะพร้าวลูกผสมคันธุลี (ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรสุราษฎร์ธานี) ระหว่างเดือนตุลาคม 2554 ถึงเดือนกันยายน 2561 วางแผนการทดลองแบบ completely randomized design (CRD) มี 10 ซ้ำ มีขนาดของหน่วยทดลอง (experimental unit) 1 ขวด (เอ็มบริโอ) มี 7 กรรมวิธี ดังนี้ กรรมวิธีที่ 1 อาหารเหลวสูตร Eeuwens (Y3) ไม่มีการเติมสารควบคุมการเจริญเติบโต กรรมวิธีที่ 2 อาหารเหลวสูตร Y3 + 2,4-D อัตรา 1 มิลลิกรัมต่อลิตร กรรมวิธีที่ 3 อาหารเหลวสูตร Y3 +2,4-D อัตรา 1 มิลลิกรัมต่อลิตร + IAA อัตรา 1 มิลลิกรัมต่อลิตร กรรมวิธีที่ 4 อาหารเหลวสูตร Y3 +2,4-D อัตรา 3 มิลลิกรัมต่อลิตร กรรมวิธีที่ 5 อาหารเหลวสูตร Y3 + 2,4-D อัตรา 3 มิลลิกรัมต่อลิตร+ IAA อัตรา 1 มิลลิกรัมต่อลิตร กรรมวิธีที่ 6 อาหารเหลวสูตร Y3 + 2,4-D อัตรา 6 มิลลิกรัมต่อลิตร และกรรมวิธีที่ 7 อาหารเหลวสูตร Y3 + 2,4-D อัตรา 6 มิลลิกรัมต่อลิตร + IAA อัตรา 1 มิลลิกรัมต่อลิตร ทุกกรรมวิธีเติมผงถ่าน (activated charcoal) จากนั้น นำไปเลี้ยงในที่มืดสนิท อุณหภูมิ 25-27 องศาเซลเซียส เลี้ยงเป็นเวลา 90 วัน โดยทำการเปลี่ยนอาหาร (subculture) ทุกๆ 1 เดือน ทำการเก็บข้อมูลจำนวนการเกิดแคลลัส การพัฒนายอดและจำนวนยอด การเกิดราก และความยาวราก ทุกๆ 1 เดือน จากการทดลองพบว่า การใช้สารควบคุมการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันไม่สามารถชักนำและพัฒนาเป็นแคลลัส และกระตุ้นให้เกิดยอดได้ในปริมาณมาก (Multiple Shoot) จึงทำให้ไม่สามารถนำแคลลัสชักนำให้เกิดไซโกติคเอ็มบริโอได้