บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาความต้านทานสารเคมีของเชื้อรา Phytophthora palmivora สาเหตุโรครากเน่าโคนเน่าของทุเรียนในแหล่งปลูกภาคตะวันออกของประเทศไทยและวิเคราะห์ความหลากหลายทางพันธุกรรมในประชากรเชื้อราสาเหตุโรคและความสัมพันธ์กับลักษณะความต้านทานสารเคมี

วีระณีย์ ทองศรี.
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) (สวก.)/กรุงเทพมหานคร.(2564)

บทคัดย่อ

Phytophthora palmivora เป็นเชื้อราสาเหตุโรคที่สำคัญของทุเรียน โดยทำให้เกิดอาการรากเน่า โคนเน่า ผลเน่าและใบไหม้ เกษตรกรจึงมีการใช้สารเคมีเพื่อควบคุมโรคดังกล่าวมาอย่างยาวนาน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เชื้อราเกิดความต้านทานต่อสารเคมีขึ้น งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบความต้านทานของเชื้อรา P.palmivora ต่อสารเคมีที่มีการใช้ในปัจจุบัน 3 ชนิด ได้แก่ metalaxyl, mancozeb และ fosetyl aluminium และสารเคมีทางเลือก 4 ชนิด ได้แก่ dimethomorph, ethaboxam, etridiazole และ thiophanate methyl รวมถึงศึกษาความหลากหลายทางพันธุกรรมในประชากรเชื้อรา P. palmivora พัฒนาไพร์เมอร์เพื่อการโคลนชิ้นส่วนดีเอ็นเอบริเวณตำแหน่งยีน DNA-directed RNA polymerase I subunit ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับลักษณะต้านทาน metalaxyl ศึกษาความสัมพันธ์ของรูปแบบลำดับกรดอะมิโนของโปรตีนเบต้าทูบูลินกับลักษณะความต้านทาน ethaboxam โดยทำการแยกเชื้อจากส่วนของพืชที่เป็นโรคในสวนทุเรียนจากแหล่งปลูกภาคตะวันออก ตรวจสอบชนิดของเชื้อราโดยวิธีชีวโมเลกุล ทดสอบความต้านทานของเชื้อราต่อสารเคมีบนอา หารเลี้ยงเชื้อ ตรวจสอบความหลากหลายทางพันธุกรรมโดยใช้เครื่องหมายโมเลกุล และค้นหายีนที่อาจเกี่ยวข้องกับลักษณะต้านทาน metalaxyl ใน P. palmivora โดยอาศัยข้อมูลยีน RPA190 ซึ่งมีรายงานความเกี่ยวข้องกับการต้านทานสาร metalxyl ใน Phytophthora infestan เพื่อออกแบบไพร์เมอร์สำหรับโคลนชิ้นส่วนดีเอ็นเอบริเวณตำแหน่งยีน RPA190 รวมถึงเปรียบเทียบลำดับกรดอะมิโนของโปรตีนเบต้าทูบูลินในประชากรเชื้อรา P. pamivora กับลำดับกรดอะมิโนของโปรตีนเบต้าทูบูลินในสายพันธุ์Phytophthora sojae ที่อ่อนแอและต้านทาน ethaboxam จากผลการทดลอง พบว่าเชื้อราที่แยกได้จากเนื้อเยื่อพืชที่เป็นโรคทั้ง 40 ไอโซเลท ถูกระบุเป็น P. palmivora โดยมี 16 และ 1 ไอโซเลทเกิดความต้านทานปานกลาง (EC50 1-100 ppm) และต้านทาน (EC50 >100 ppm) ต่อสารเคมี metalaxyl ตามลำดับ 3 ไอโซเลทเกิดความต้านทานต่อสารเคมี mancozeb (EC50 >100 ppm) และ 16 และ 24 ไอโซเลทเกิดความต้านทาน (EC50 >100-1000 ppm) และต้านทานมาก (EC50 >1000 ppm) ต่อสารเคมี thiophanate methyl ตามลำดับ ซึ่งตรงกันข้ามกับทุกไอโซเลทมีความอ่อนแอต่อสารเคมี fosetyl aluminium (EC50 ?2000 ppm), dimethomorph (EC50 <1 ppm), ethaboxam (EC50 ?50 ppm) และ etridiazole (EC50 <10 ppm) ในงานวิจัยนี้ไม่พบความหลากหลายทางพันธุกรรมในประชากรเชื้อรา P. palmivora จากเครื่องหมายโมเลกุลที่ทำการตรวจสอบ พบยีน RPA1(PHPALM_20058) ใน P. palmivora ซึ่งเป็นยีน homolog กับยีน RPA190 ของ P. infestans โดยสามารถพัฒนาชุดไพร์เมอร์จำนวน 2 คู่ เพื่อร่วมใช้ในการโคลนชิ้นส่วนดีเอ็นเอบริเวณตำแหน่งยีน RPA1 และพบว่าโปรตีนเบต้าทูบูลิน (PHPALM_19373) ของประชากร P. palmivora มีรูปแบบลำดับกรดอะมิโนเหมือนกับโปรตีนเบต้าทูบูลินของ P. sojae ที่อ่อนแอต่อ ethaboxam งานวิจัยนี้บ่งชี้ได้ว่าเชื้อรา P. palmivora จากแหล่งปลูกทุเรียนภาคตะวันออกของประเทศไทยเกิดความต้านทานต่อสารเคมี metalaxyl และ mancozeb ส่วนสารเคมีที่ควรนำมาใช้เพื่อควบคุมโรคที่เกิดจากเชื้อราดังกล่าว ได้แก่ fosetyl aluminium, dimethomorph, ethaboxam และ etridiazole และพบว่าประชากรเชื้อราอาจมีความใกล้ชิดทางพันธุกรรมสูงโดยเครื่องหมายโมเลกุลที่ใช้ทดสอบไม่มีความเชื่อมโยงกับลักษณะต้านทานสารเคมี ชุดไพร์เมอร์เพื่อการโคลนชิ้นส่วนดีเอ็นเอบนตำแหน่งยีน RPA1 จะถูกนำมาใช้ประโยชน์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจีโนไทป์และลักษณะความต้านทานสารเคมี metalaxyl ต่อไป และยีนเบต้าทูบูลิน (PHPALM_19373) อาจเป็นยีน putative ที่เกี่ยวข้องกับลักษณะความต้านทาน ethaboxam ควรมีการยืนยันหน้าที่ของยีนดังกล่าวต่อไป