บทคัดย่องานวิจัย

การศึกษาวัสดุดูดซับสำหรับการประยุกต์ใช้งานสำหรับกำจัดสารซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในลำไย

สุพัตรา วงศ์แสนใหม่ 

บทคัดย่อ

การรมผลลำไยด้วยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) เป็นวิธีการเก็บรักษาผลลำไยที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ซึ่งมีประสิทธิภาพเพื่อป้องกันโรคหลังการเก็บเกี่ยวและฟอกสีผิวผล ซึ่งสามารถควบคุมการเน่าเสียของผลลำไยจากเชื้อรา และป้องกันการเกิดสีน้ำตาลบนผิวลำไย อย่างไรก็ตามซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างจากกระบวนการรมผลลำไยยังคงเป็นปัญหาหลักในการส่งออกผลผลิตลำไยไปต่างประเทศ ในงานวิจัยนี้ได้ใช้ถ่านกัมมันต์ที่ผ่านเคลือบผิวเพื่อกำจัดซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตกค้างในผลลำไยสด โดยทำการแช่ในสารเคมีกลุ่มเบสโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ (KOH) ที่มีความเข้มข้นระหว่าง 0-8 เปอร์เซ็นต์โดยน้ำหนัก แล้วนำสารตัวอย่างไปหาพื้นที่ผิวด้วยเทคนิค BET ศึกษาพฤติกรรมการเกิดเฟส ลักษณะสัณฐาณและกลุ่มฟังก์ชันที่ผิวของตัวอย่างด้วยเทคนิค XRD SEM และFTIR ตามลำดับ ซึ่งพบว่าสารตัวอย่างถ่านกัมมันต์ที่ไม่เคลือบผิวมีพื้นที่ผิว 773 ตารางเมตรต่อกรัม และมีแนวโน้มลดลงเมื่อมีการเคลือบด้วย KOH ที่มีความเข้มข้นเพิ่มขึ้น จากลักษณะสัณฐานถ่านกัมมันต์เกิดการเกาะกลุ่มกัน ในขณะที่กลุ่มฟังก์ชันแสดงให้เห็นองค์ประกอบของถ่านกัมมันต์และมีพีคกลุ่มฟังก์ชันของ KOH และลำดับสุดท้ายได้ทำการทดลองประสิทธิภาพการกำจัด SO2 ของถ่านกัมมันต์ที่แช่และไม่แช่โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ พบว่าถ่านกัมมันต์ที่ไม่แช่โพแทสเซียมไฮดรอกไซด์สามารถกำจัด SO2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพดีที่สุด