บทคัดย่องานวิจัย

ประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของกล้วยหอมทองที่ผ่านการฉายรังสีแกมมาบนอาหารที่มีความเค็ม

พิมพรรณ พิมลรัตน์ และ จันทรีย์ ยี.          
แก่นเกษตร, 48(ฉบับพิเศษ1), 1073-1078.(2563).

บทคัดย่อ

การพัฒนากล้วยหอมทองทนเค็มจะสามารถขยายพื้นที่ปลูกกล้วยไปในพื้นที่ดินเค็มได้ การใช้รังสีแกมมาชักนำการกลายพันธุ์และนำยอดมาวางเลี้ยงบนอาหารที่เติมเกลือจะเพิ่มโอกาสในการได้สายพันธุ์ใหม่ได้ การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเติมเกลือโซเดียมคลอไรด์ 10 ก./ล. ลงในอาหารต่อประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของต้นกล้วยหอมทองที่ผ่านการฉายรังสีแกมมาในปริมาณแตกต่างกัน คือ 0, 10, 20, 30, 40 และ 50 เกรย์ อัตราปริมาณรังสี 493.38 แรด/นาที เก็บข้อมูลเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตความสามารถในการแตกกอใหม่ ความสูงต้น และจำนวนใบภายหลังการวางเลี้ยงเป็นเวลา 3 เดือน ผลการทดลองพบว่า ความสูงต้นมีการเปลี่ยนแปลงมากที่สุดจากการใช้รังสีแกมมาในปริมาณ 20 เกรย์ รังสีแกมมาในปริมาณ 30 เกรย์ สามารถช่วยให้ต้นกล้วยหอมทองที่วางเลี้ยงบนอาหารที่เติมเกลือมีเปอร์เซ็นต์การรอดชีวิตและความสามารถในการแตกหน่อใหม่สูงที่สุด และยังพบว่ารังสีแกมมาในปริมาณ 30 เกรย์ กระตุ้นการพัฒนาของใบกล้วยหอมทองที่วางเลี้ยงบนอาหารที่เติมเกลือได้อีกด้วย ปริมาณรังสีแกมมาที่เหมาะสมในการส่งเสริมประสิทธิภาพการเจริญเติบโตของต้นกล้วยหอมทองที่วางเลี้ยงบน อาหารที่เติมเกลือ 10 ก./ล. คือปริมาณ 30 เกรย์