บทคัดย่องานวิจัย
ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตกล้วยหอมของเกษตรกรในอำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี
อรพิมพ์ สุริยา, เฉลิมพล จตุพร และคณะ.
วารสารปัญญาภิวัฒน์, 9(2). (2560).
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตกล้วยหอมของเกษตรกรในอำเภอหนองเสือ จังหวัดปทุมธานี ใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย ได้กลุ่มตัวอย่างเป็นเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอม จำนวน 212 ราย และทำการวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการถดถอยพหุคูณ
ผลการศึกษา 1) ปัจจัยพื้นฐานส่วนบุคคล พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นเพศชายร้อยละ 66.51 ได้รับการศึกษาต่ำกว่าระดับประถมศึกษาร้อยละ 34.43 อายุเฉลี่ย 52.61 ปี จำนวนแรงงานในครัวเรือนเฉลี่ย 2.17 คน และจำนวนแรงงานจ้างเฉลี่ย 0.41 คน 2) ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 69.81 มีรายได้จากกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากการปลูกกล้วยหอม รายได้สุทธิจากการปลูกกล้วยหอมเฉลี่ย 771,990.57 บาทต่อปี และต้นทุนการผลิตกล้วยหอมเฉลี่ย 19,349.53 บาทต่อไร่ 3) ปัจจัยด้านสังคม พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ร้อยละ 85.85 ไม่ได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับการผลิตกล้วยหอม และร้อยละ 78.77 เป็นสมาชิกกลุ่มหรือสหกรณ์ และ 4) ปัจจัยด้านความรู้เกี่ยวกับการผลิตกล้วยหอม พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมปลูกกล้วยหอมพันธ์หอมทองร้อยละ 77.83 มีประสบการณ์ปลูกกล้วยหอมเฉลี่ย 6.12 ปี และได้คะแนนความรู้เกี่ยวกับการผลิตกล้วยหอมให้ได้มาตรฐานเฉลี่ย 23.26 คะแนน จากคะแนนเต็ม 25 คะแนน สำหรับการวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณ พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลต่อการผลิตกล้วยหอม ได้แก่ จำนวนแรงงานในครัวเรือน จำนวนแรงงานจ้าง รายได้สุทธิจากการผลิตกล้วยหอม รายได้จากกิจกรรมอื่นนอกเหนือจากการปลูกกล้วยหอม ต้นทุนการผลิตกล้วยหอม และความรู้เกี่ยวกับการผลิตกล้วยหอมให้ได้มาตรฐาน