วาสนา พิทักษ์พล ฑิฆัมพร ขอนทอง และ สมสุดา วรพันธุ์
บทคัดย่องานวิจัย
ผลของการเคลือบผิวด้วยคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสจากผักตบชวาต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวและอายุการเก็บรักษาลำไย
วาสนา พิทักษ์พล ฑิฆัมพร ขอนทอง และ สมสุดา วรพันธุ์.
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตร 50 2562.
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเคลือบผิวด้วยคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสจากผักตบชวา (CMCwh) เปรียบเทียบ กับคาร์บอกซีเมทิลเซลลูโลสทางการค้า (CMCcom) ต่อคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยวและอายุการเก็บรักษาลำไยพันธุ์ดอ วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์มี 7 กรรมวิธี ได้แก่ CMCwh ความเข้มข้น 0.5, 1.0 และ 2.0% หรือ CMCcom ความเข้มข้น 0.5, 1.0 และ 2.0% และชุดควบคุม (ไม่ได้เคลือบสาร) โดยนำผลลำไยมาล้างแล้วทำความสะอาดด้วยสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 200 มิลลิกรัมต่อลิตร แล้วผึ่งให้แห้ง จากนั้นจุ่มในสารเคลือบผิวเป็นเวลา 4 นาที แล้วนำไปบรรจุในกล่องพลาสติกแบบมีฝาปิด นำมาเก็บรักษาที่อุณหภูมิห้อง 25 ± 2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 60 ± 2% และอุณหภูมิต่ำ 5 ± 2 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 80 ± 2% ผลการศึกษาพบว่า การเคลือบผิวด้วย CMCwh และ CMCcom ทุกกรรมวิธีช่วยชะลอการสูญเสียน้ำหนัก การเกิดสีน้ำตาลที่เปลือกผล การเกิดโรค และช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้นานขึ้น ซึ่งมีอายุการเก็บรักษา 8.33-10 วัน (อุณหภูมิห้อง) และ 14.33-20 วัน (อุณหภูมิต่ำ) โดยที่ CMCwh 0.5% สามารถยืดอายุการเก็บรักษาผลลำไยได้นานที่สุด (อุณหภูมิห้องและอุณหภูมิต่ำได้นาน 10 และ 20 วัน ตามลำดับ) ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P≤0.05) กับผลลำไยในชุดควบคุมที่เก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องและอุณหภูมิต่ำได้นาน 7 และ 14 วัน ตามลำดับ