บทคัดย่องานวิจัย

ผลของการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต่อสมบัติทางเคมีดินและการเจริญเติบโตของกล้วยหอมทอง

ณัฐนนท์ บุยโกย, ทัศไนย จารุวัฒนพันธ์, อารยา อาจเจริญ เทียนหอม, เจนจิรา ชุมภูคำ และ เกศศิรินทร์ แสงมณี.                 
การประชุมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ครั้งที่ 60. (หน้า 35-39).(2565).

บทคัดย่อ

ศึกษาผลของการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ 4 ชนิดต่อสมบัติทางเคมีของดินและการเจริญเติบโตของกล้วยหอมทองที่ปลูกใน อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ (Completely Randomized Design; CRD) ประกอบด้วย 4 ทรีตเมนต์จำนวน3ซํ้า ได้แก่ 1) มูลวัว 500 กรัม/ต้น 2) มูลไก่แกลบ 500 กรัม/ต้น 3) มูลไส้เดือนดิน 300 กรัม/ต้น และ 4) มูลสุกร 500 กรัม/ต้น เก็บข้อมูลการเจริญเติบโตจนครบอายุ 6 เดือน ผลการศึกษาพบการใส่ปุ๋ยมูลไส้เดือนดินส่งผลให้การเจริญเติบโตของกล้วยหอมทองหลังปลูกไปแล้ว 6 เดือน ด้านความสูง เส้นรอบวง ความยาวใบ และความกว้างใบ มากที่สุดเท่ากับ 46.33 ซม. 16.06 ซม. 49.11 ซม. และ 23.00 ซม. ตามลำดับ ส่วนการใส่มูลวัวจะ ส่งผลต่อจำนวนใบมากที่สุด (20 ใบ)