บทคัดย่องานวิจัย

ผลของพาโคลบิวทราโซลต่อการเจริญเติบโตของหน่อตามกล้วยหอมทอง

พิมพ์นิภา เพ็งช่าง, กัลยาณี สุวิทวัส, ขวัญหทัย ทนงจิตร.
วารสารวิทยาศาสตร์เกษตรและการจัดการ, 5(1), 13-18.(2565).

บทคัดย่อ

ศึกษาผลของสารพาโคลบิวทราโซลที่ความเข้มข้นต่างกันต่อการเจริญเติบโตของหน่อตามในกล้วยหอมทอง โดยให้สารพาโคลบิวทราโซลที่ความเข้มข้น 125, 250, 500 และ 1,000 มก. a.i./ต้น กับหน่อตามอายุ 2 เดือน ของต้นกล้วยหอมทองเปรียบเทียบกับหน่อตามที่ไม่ได้รับสาร (ชุดควบคุม) วางแผนการทดลองแบบ RCBD (Randomized Complete Block Design) มี 5 ทรีตเมนต์ แต่ละทรีตเมนต์มี 10 ซ้ำ จากการศึกษาพบว่า ความสูงของลำต้นเทียมลดลงตามความเข้มข้นของสารพาโคลบิวทราโซลที่เพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงความสูงของลำต้นเทียมเริ่มแตกต่างตั้งแต่เดือนที่ 6 หลังได้รับสารเปรียบเทียบกับต้นที่ไม่ได้รับสาร ดังนี้ 229.0, 221.5, 211.9, 205.8 และ 189.0 ซม. ตามลำดับ
นอกจากนี้ยังส่งผลให้ขนาดเส้นรอบวงของลำต้นเทียม ระยะห่างระหว่างกาบใบแคบลงและความยาวก้านใบสั้นลงตามความเข้มข้นของสารที่เพิ่มขึ้น โดยความเข้มข้นของสารพาโคลบิวทราโซลที่เหมาะสม คือ 125 มก.a.i/ต้น และการใช้ความเข้มข้นของสารพาโคลบิวทราโซลที่สูงเกินไปส่งผลให้เกิดลักษณะที่ผิดปกติกับลำต้นเทียม