บทคัดย่องานวิจัย

ผลของฟองก๊าซ 1-MCP ขนาดไมโคร ต่อคุณภาพของกล้วยหอมทอง

ชัยรัตน์ บูรณะ.
วารสารวิทยาศาสตร์บูรพา, 23(3). 1597-1603.(2561). 

บทคัดย่อ

1-Methylcyclopropene (1-MCP) เป็นสารยับยั้งการทำงานของเอทิลีนโดยสามารถชะลอการเสื่อมคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตรได้หลายชนิด งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อชะลอกระบวนการสุกและรักษาคุณภาพของกล้วยหอมทองด้วยเทคโนโลยีฟองก๊าซขนาดไมโคร (Micro bubbles: MBs) ร่วมกับ 1-MCP ในรูปของฟองก๊าซ 1-MCP ขนาดไมโคร(1-MCP-MBs) ทำการเปรียบเทียบผลของวิธีการรมด้วย 1-MCP 500 ppb และการจุ่มด้วย 1-MCP-MBs ที่ความเข้มข้น 300และ 500 ppb ตามลำดับ การบ่มด้วยเอทีฟอนความเข้มข้น 500 ppm และมีกล้วยหอมที่ไม่ผ่านกระบวนการใด ๆ เป็นชุดทดลองควบคุม จากนั้นำกล้วยหอมทั้งหมดไปเก็บรักษาที่ห้องควบคุมอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ75±5 ในสภาพที่มีแสง ผลการทดลองพบว่า การบ่มกล้วยหอมทองด้วยเอทีฟ่อนมีผลกระตุ้นอัตราการหายใจโดยมีอัตราการหายใจและการผลิตเอทิลีน โดยมีค่าสูงที่สุดในวันที่ 6 ของการเก็บรักษา จากนั้นมีแนวโน้มลดลงตลอดระยะเวลาการเก็บรักษาการบ่มด้วยเอทีฟ่อนมีผลในการกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงเนื้อสัมผัสของกล้วยหอม เร่งการเปลี่ยนสีของเปลือกจากสีเขียวไปเป็นสีเหลืองสอดคล้องกับปริมาณคลอโรฟิลล์ที่วิเคราะห์ได้ วิธีการรมกล้วยหอมทองด้วย 1-MCP และการจุ่มด้วย 1-MCP-MBsสามารถชะลอการสุกและรักษาคุณภาพของกล้วยหอมทองได้เมื่อเทียบกับการบ่มด้วยเอทีฟ่อนและชุดทดลองควบคุม โดยที่ความเข้มข้นของ 1-MCP-MBs 500 และ 300 ppb ให้ผลไม่แตกต่างกัน ดังนั้นการใช้ 1-MCP-MBs ที่ความเข้มข้น 300 ppb เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการรักษาคุณภาพของกล้วยหอมทอง เนื่องจากสามารถปฏิบัติได้ง่ายและใช้ระยะเวลาน้อยกว่าการรมด้วย 1-MCP ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งในการวางจำหน่ายกล้วยที่ตลาดในประเทศและเพื่อการส่งออกที่มีการขนส่งทางเรือ