บทคัดย่องานวิจัย
ผลของ IBA ต่อการสร้างหน่อและการเจริญเติบโตของกล้วยหอมทองที่ขยายพันธุ์โดยวิธีผ่าเหง้า
หาระโคตร พ., พลจันทร์ ป., & พวงจิก ธ. Thai Journal of Science and
Technology, 8(4), 367–376.(2019).
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของ indole-3-butyric acid (IBA) ต่อการออกราก การสร้างหน่อและการเจริญเติบโตของกล้วยหอมทองที่ได้จากการผ่าเหง้า ณ แปลงทดลอง สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต วางแผนการทดลองแบบสุ่มสมบูรณ์ มี 4ซ้ำ ประกอบด้วย 6ทรีทเมนต์ ได้แก่ IBA ความเข้มข้น 500,1,000,1,500,2,000และ 2,500ppm เปรียบเทียบกับการไม่เติม IBA (control) พบว่าทุกทรีทเมนต์มีอัตราการรอดตายของหน่อกล้วยไม่แตกต่างกันทางสถิติ (100%) อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาเฉลี่ยในการแทงหน่อ ความยาวราก ความสูงและเส้นผ่านศูนย์กลางของหน่อและจำนวนใบแตกต่างกันทางสถิติซึ่งชุดทดลองควบคุมทำให้หน่อกล้วยหอมทองมีระยะเวลาเฉลี่ยในการแทงหน่อเร็วดีที่สุด (23.36วัน) เมื่อเปรียบเทียบกับการใช้ IBAที่ความเข้มข้นต่าง ๆ การใช้ IBA ความเข้มข้น1,000ppm ส่งผลให้หน่อกล้วยหอมทองมีความยาวราก(14.50ซม.)เส้นผ่านศูนย์กลางของหน่อ(1.78ซม.)และจำนวนใบสูงสุด(3.5ใบ/หน่อ)ในขณะที่ระยะเวลาเฉลี่ยในการแทงหน่อไม่แตกต่างทางสถิติกับชุดทดลองควบคุม(28.54วัน) นอกจากนี้การใช้ IBA ที่ระดับความเข้มข้นสูงมีแนวโน้มทำให้การแทงหน่อและความสูงของหน่อกล้วยหอมทองลดลง ดังนั้นการใช้IBA ความเข้มข้น 1,000ppm เหมาะสำหรับการขยายพันธุ์กล้วยหอมทองด้วยวิธีผ่าเหง้ามากที่สุด