บทคัดย่องานวิจัย
เทคโนโลยีการแปรรูปโดยไม่ใช้ความร้อนแบบผสมผสานด้วยเทคนิคพัลส์สนามไฟฟ้าร่วมกับการใช้ความดันสูงสำหรับการแปรรูปน้ำมะพร้าว
ฤทธิชัย อัศวราชันย์.
มหาวิทยาลัยแม่โจ้: เชียงใหม่ (2560).
บทคัดย่อ
สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. ได้สนับสนุนทุนวิจัยโครงการ “เทคโนโลยีการแปรรูปโดยไม่ใช้ความร้อนแบบผสมผสานด้วยเทคนิคพัลส์สนามไฟฟ้าร่วมกับการใช้ความดันสูงสำหรับการแปรรูปน้ำมะพร้าว” แก่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยมี ผศ.ดร.ฤทธิชัย อัศวราชันย์ เป็นหัวหน้าโครงการ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเทคโนโลยีการแปรรูปโดยไม่ใช้ความร้อนแบบผสมผสานด้วยเทคนิคพัลส์สนามไฟฟ้า (PEF) ร่วมกับการใช้ความดันสูง (HPP) สำหรับการแปรรูปน้ำมะพร้าว
จากการศึกษาวิจัย พบว่าผลของความเข้มของสนามไฟฟ้า และอัตราการไหลมีผลต่อประสิทธิภาพการทำลายจุลินทรีย์ ผลการศึกษาการพาสเจอร์ไรซ์เซชั่นน้ำมะพร้าวด้วยเทคนิคพัลส์สนามไฟฟ้าแรงสูงระบบต่อเนื่อง พบว่าสามารถลดปริมาณจุลินทรีย์ได้มากกว่า 5 log CFU ที่ความดันไฮโดรสแตติกที่ระดับ 600 MPa โดยใช้เวลาเท่ากับ 10 และ 15 min/cycle และมีอายุการเก็บรักษามากกว่า 45 วัน โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงค่า pH, acidity, TSS ของน้ำมะพร้าว ขั้นตอนการวิจัย เริ่มจากพาสเจอร์ไรซ์น้ำมะพร้าวด้วยด้วยเทคนิคพัลส์สนามไฟฟ้าแรงสูงจากนั้นนำไปบรรจุขวด และนำไปการพาสเจอร์ไรซ์เซชั่นด้วยการใช้ความดันสูง สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของพาสเจอร์ไรซ์ชั่นได้มากขึ้น โดยสามารถลดค่าความดันไฮโดรสแตติกลดเหลือ 500 MPa ใช้เวลาลดลง เหลือเพียง 10 นาที อายุการเก็บรักษาเพิ่มขึ้น และสามารถรักษาสมบัติทางเคมี-กายภาพของน้ำมะพร้าวใกล้เคียงน้ำมะพร้าวสด นอกจากนี้การวิเคราะห์ต้นทุนการแปรรูปผลิตภัณฑ์น้ำมะพร้าวพาสเจอร์ไรซ์เซชั่นด้วยเทคนิคพัลส์สนามไฟฟ้าร่วมกับการใช้ความดันสูงขนาดกำลังการผลิต 200 L/cycle มีต้นทุนการผลิตเท่ากับ 1.12 ฿/bottle (ขนาดบรรจุ 150 mL) คิดเป็นอัตราผลตอบทนเงินลงทุนเท่ากับ 308.47% ต่อปี และจุดคุ้มทุนในการลงทุนเท่ากับ เครื่องจักรใช้ระยะเวลา 4 เดือน (อัตราดอกเบี้ย ที่ 10%)
ประโยชน์ที่จะได้รับของโครงการนี้คือ อุปกรณ์ต้นแบบสำหรับการทดสอบระบบการพาสเจอร์ไรส์น้ำมะพร้าวด้วยเทคนิคพัลส์สนามไฟฟ้าร่วมกับเทคนิคความดันสูง และสภาวะที่เหมาะสมรวมทั้งผลการเปรียบเทียบประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อจุลินทรีย์ของวิธีการพาสเจอร์ไรน์ด้วยวิธีแบบดั้งเดิม เทคนิคพัลส์สนามไฟฟ้า (PEF) และการใช้ความดันสูง (HPP)